วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โครงการผันน้ำเข้าที่ส่วนพระองค์ บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา


โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว: โครงการผันน้ำเข้าที่ส่วนพระองค์ บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระ

สุริโยทัย  ทุ่งมะขาม หย่องจ.พระนครศรีอยุธยา






        ทุ่งมะขามหย่อง สมรภูมิรบสำคัญในสมัยอยุธยา ที่ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ ถึงการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของวีรสตรีไทย"สมเด็จพระศรีสุริโยทัย" ที่ ทรงสละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการรบกับพม่าเมื่อปี พ.ศ.2091 ตั้งอยู่ในตำบลภูเขาทอง อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กินพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ มีพระราชานุสาวรีย์ช้างทรงของสมเด็จพระสุริโยทัย และนักรบจาตุรงคบาท ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ ซึ่งอนุสรณ์สถานแห่งนี้ถูกจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2534 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวาระมหามงคลพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2535 ด้วย สถานที่แห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย" 

        นอกจากนี้ ยังเป็นที่ดินส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวตามแนวพระราชดำริ เป็นพื้นที่แก้มลิง เพื่อรองรับและป้องกันน้ำท่วม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ที่ดินส่วนพระองค์บริเวณทุ่งมะขามหย่องและทุ่งภูเขาทองที่อยู่ติดกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างมา






      “ทุ่งมะขามหย่อง” ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใหม่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นบริเวณที่น้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก เมื่อ พ.ศ.2091 หลังจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ได้ 7 เดือน พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ยกกองทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี ถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 4 แล้วตั้งค่ายล้อมพระนคร 4 ค่าย คือค่ายพระเจ้าหงสาวดี ตั้งอยู่ที่บ้านกุ่มดวง ค่ายบุเรงนองตั้งอยู่ที่ ต.เพนียด ค่ายพระเจ้าแปรตั้งอยู่ที่บ้านใหม่มะขามหย่อง ค่ายพระยาพะสิมตั้งอยู่ที่ทุ่งประเชด หรือทุ่งวรเชษฐ์

      ครั้นวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พร้อมด้วยพระมเหสี คือ สมเด็จพระมหาสุริโยทัย ซึ่งแต่งพระองค์เยี่ยงพระมหาอุปราช และพระราชโอรส พระราชธิดา คือ พระราเมศวร พระมหินทร์ พระบรมดิลก ทรงช้าง ยกกองทัพไปยังทุ่งภูเขาทอง หมายจะลองกำลังศึก กองทัพกรุงศรีอยุธยาปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นกองหน้าที่ทุ่งมะขามหย่อง

      พระมหาจักรพรรดิทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร แต่พลายแก้วจักรพรรดิ พระคชาธารของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิถลำไปข้างหน้ารั้งไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ทีจึงเบนช้างไล่ตาม สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเกรงพระสวามีจะเป็นอันตราย จึงไสช้างทรงพลายสุริยกษัตริย์เข้าขวางไว้ ช้างพระเจ้าแปรได้ล่าง ใช้งาเสยข้างสมเด็จพระศรีสุริโยทัยแหงนหงาย พระเจ้าแปรจึงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสากระทั่งราวพระถัน สิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวรกับพระมหินทร์ขับช้างเข้ากันพระศพพระราชมารดานำกลับพระนครได้

      ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา หลังจากสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศเอกราชได้ 2 ปี พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้มังมอดราชบุตร ซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ยกกองทัพมาตั้งค่ายที่ขนอนปากคู่ ใกล้ทุ่งมะขามหย่อง สมเด็จพระนเรศวรยกพลออกมาปล้นค่ายพม่าหลายครั้ง ทรงใช้พระโอษฐ์คาบพระแสงดาบปีนเสาระเนียดเข้าไปในค่ายข้าศึก ทำให้พระแสงดาบเล่มนั้นปรากฏนามว่า “พระแสงดาบคาบค่าย”

      ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้สร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่บริเวณ “ทุ่งมะขามหย่อง” เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมในครั้งกระนั้น

ซึ่งรัฐบาลได้สนองพระราชดำริโดยร่วมกับพสกนิกรชาวไทยดำเนินโครงการสร้างพระราชานุสาวรีย์เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ใน พ.ศ.2535 โดย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2534   และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีสุริโยทัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2538

      ใน พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเกี่ยวข้าวที่ “ทุ่งมะขามหย่อง” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้ใช้พื้นที่ทุ่งมะขามหย่องอันเป็นที่ดินส่วนพระองค์ ในโครงการพระราชดำริ เพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งในการเป็นแหล่งเก็บน้ำและรองรับน้ำ เมื่อเกิดอุทกภัยในภาคกลาง ทุ่งมะขามหย่องจึงเป็นที่รองรับน้ำที่สำคัญ 


      ใน พ.ศ.2549เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร

      ทั้งนี้ อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่รวมจิตใจคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สร้างความประทับใจให้ชาวอยุธยามิรู้ลืม คือครั้งที่พระองค์ทรงเกี่ยวข้าวที่ทุ่งมะขามหย่อง ในปี 2539

         นอกจากนี้ ในทางความสำคัญแห่งวิถีชีวิตของประชาชน ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้นำพื้นที่ทุ่งนาในตำบลบ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 250 ไร่ มาเป็นพื้นที่แก้มลิงมาตั้งแต่กลางปี 2538 ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาน้ำหลากและภัยแล้ง ทุ่งมะขามหย่อง ต. บ้านใหม่ จึงเป็นที่รองรับน้ำที่สำคัญ และในปี 2549 เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในทุ่งมะขามหย่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร

          ไม่นานมานี้ปลายปีที่ผ่านมา จากเหตุมหาอุทกภัยใหญ่ แต่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ยังเป็นแหล่งพักพิงของประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมนับพันชีวิต รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า วัว ควาย ได้อาศัยอยู่หนีน้ำยาวนานนับเดือน


          ท่านรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระ เล่าให้ฟังถึงที่มาของ “ทุ่งมะขามหย่อง” อีกมิติหนึ่งไว้ในมติชนออนไลน์วันก่อนว่า ในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ลำน้ำสายเดียว แต่มีแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบลงพื้นที่บริเวณนี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยม

       “สมัยก่อนลำน้ำที่ไหลผ่านทางนี้เข้ากรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “ลำน้ำมะขามหย่อง” ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำน้อย ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาคือ “ลำน้ำบางแก้ว” ไหลผ่านมาถึงบางปะหัน ถึงทุ่งวัดนนทรี แล้วมารวมกันที่ลุ่มน้ำมะขามหย่อง ทำให้พื้นที่ระหว่างลำน้ำมะขามหย่องกับลำน้ำลพบุรี กลายเป็นทุ่งกว้าง จึงเรียกว่า “ทุ่งมะขามหย่อง”

        ในแง่ของภูมิศาสตร์ เป็นท้องทุ่งพื้นที่รับน้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณ ลำน้ำหลายสายไหลเข้ามาหากรุงศรีอยุธยาก็จะมาบรรจบกันบริเวณทุ่งแห่งนี้ ในแง่ของการทำสงครามยุทธหัตถี ก็ยังถือเป็นสมรภูมิรบระหว่างกองทัพทหารพม่ากับกองทัพไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในแง่ประวัติศาสตร์ ที่นี่เป็นตำนานความกล้าหาญและวีรกรรมที่ควรยกย่องของสมเด็จพระสุริโยทัย
รศ.ศรีศักรเล่าอีกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงเข้าใจในลักษณะของประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเป็นอย่างดี เมื่อเกิดน้ำท่วมอยุธยาในระยะแรก พระองค์ก็ทรงมีพระประสงค์จะทำอ่างกักเก็บน้ำในบริเวณทุ่งมะขามหย่อง จากนั้นเป็นต้นมาทุ่งแห่งนี้จึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำถาวร”

          “ความคิดของผม พระองค์ท่านเสด็จฯ มาทุ่งมะขามหย่องเป็นการส่วนพระองค์ในครั้งนี้ น่าจะเสด็จฯ ไปเพื่อทรงขยายอ่างเก็บน้ำที่เป็น “แก้มลิง” สำหรับรับมือกับน้ำท่วมพระนครศรีอยุธยา”
รศ.ศรีศักรกล่าว
รศ.ศรีศักรยังกล่าวต่ออีกว่า

          “นอกจากนี้ ผู้รับผิดชอบควรพิจารณาปัญหานายทุนจะสร้างบ้านจัดสรรที่อยุธยา เพราะปัจจุบันพื้นที่บริเวณทุ่งมะขามหย่องมีบ้านจัดสรรผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก บ้านจัดสรรและนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวได้สร้างทับพื้นที่ฟลัดเวย์ ทำให้น้ำท่วมมากขึ้นกว่าในอดีต”







ขอบคุณแหล่งที่มา:


  • http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=sang&date=26-05-2012&group=7&gblog=6

  • http://th.wikipedia.org/wiki/พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (แหล่งอ้างอิง)

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลส่วนตัว

ชื่อ นายสรวุฒิ ศรีสวัสดิ์   สาขา การจัดการอุตสาหกรรม 2  115430503722-2 คณะ บริหารธุรกิจ